โทษของ “ชาเขียว” ที่หลายคนไม่รู้

โทษของชาเขียว

ชาเขียวนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย โดยการป้องกันโรคหัวใจและโรคมะเร็ง รวมถึงประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอวัย แต่จริงๆ แล้วในอีกด้านหนึ่ง ชาเขียวก็สามารถให้โทษต่อร่างกายได้เช่นกัน หากรู้เท่าไม่ถึงการ ซึ่งผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดื่มชาเขียว ได้แก่

  • ในชาเขียวมีคาเฟอีน (caffeine) ซึ่ง และโกโก้ การบริโภคชาเขียวในปริมาณที่ไม่มากเกินไป มักไม่ทำให้เกิดพิษจากคาเฟอีน แต่ถ้าดื่มชาเขียวในปริมาณที่มากเกินไป เช่น มากกว่าวันละ 3 – 5 ถ้วย อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากคาเฟอีนได้ เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย รู้สึกอึดอัดไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาจมีถ่ายท้องได้
  • ควรระวังการดื่มชาเขียวในคนที่เป็นโรคหัวใจ เพราะคาเฟอีนสามารถทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน
  • คนที่เป็นเบาหวาน คาเฟอีนอาจจะส่งผลน้ำตาลในเลือด ควรตรวจเช็คระดับน้ำตาลตลอดเวลาเมื่อทานชาเขียวเกินขนาด
  • การดื่มชาเขียวอาจจะทำให้ภาวะวิตกกังวล หงุดหงิด
  • การรับประทานชาเขียวมากเกินไปในขณะให้นมลูก อาจจะทำให้คาเฟอีนในชาเขียว ส่งผ่านไปยังเด็กผ่านทางน้ำนม ซึ่งถ้าเด็กได้รับปริมาณมาก อาจจะเกิดอันตรายจากคาเฟอีนได้ โดยมีคำแนะนำว่าไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ถ้วย หรือทานในปริมาณน้อยๆ
  • สำหรับในคนท้อง การทานชาเขียวอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูก ดังนั้น ในระหว่างตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงชาเขียว
  • เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าชาเขียวสามารถรักษาและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ จึงทำให้ความนิยมของการดื่มชาเขียวกับคนที่เป็นมะเร็งจึงเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สารโพลีฟีนอล (polyphenols) ซึ่งพบได้มากในชาเขียว สามารถเกิดอันตรกิริยากับยารักษามะเร็งหรือยาตีกันได้ โดยเฉพาะกับยา bortezomib นอกจากนี้วิตามินเคที่พบมากในชาเขียว สามารถทำให้ฤทธิ์ละลายลิ่มเลือดของยาวาร์ฟารินลดลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในหลอดเลือดสมองและหัวใจ ดังนั้น ก่อนการทานชาเขียวและสมุนไพรอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาอีกด้วย
  • สารแทนนิน (tannin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดรสขมในชาเขียว สามารถยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารได้ จึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดเหล็ก (iron deficiency) ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคโลหิตจาง ตามมาด้วย
  • การทานชาเขียวในปริมาณที่มาก ส่งผลทำให้มีการขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) และอาจทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บที่กระดูกได้ง่าย
  • สารคาเทชิน (catechins) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอล มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) พบว่าสารตัวนี้จะมีพิษต่อไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างพลังงานให้กับเซลล์ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติต่อตับ ได้แก่ ตัวเหลืองตาเหลือง ตับอักเสบ รวมถึงตับวาย นอกจากนี้สารคาเทชินยังส่งผลทำให้กลูตาไธโอน (glutathione) ซึ่งเป็นสารที่คอยกำจัดสารพิษในตับลดลง
  • มีทดลองให้หนูทดลองกินชาเขียวในปริมาณสูง จะส่งผลทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน(testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายลดลง ซึ่งอาจจะเกิดจากการทำงานของอัณฑะผิดปกติ ดังนั้น ชาเขียวอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ได้

ประโยชน์ของชาเขียวนั้นมีประโยชน์มากมายหลายอย่างต่อร่างกาย ทั้งมวลทั้งสิ้น จะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นไปอีกถ้าเรารู้จักมันมากขึ้น