ประโยชน์ที่คุณจะได้รับเมื่อ “หยุด” สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ นั้นเป็นค่านิยมของคนกลุ่มหนึ่ง ถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าถึงอารมณ์ของผู้ที่สูบเข้าไป รวมไปถึงสามารถทำร่วมไปคู่กับการทำกิจกรรมหลายๆอย่าง บุหรี่สามารถช่วยในหลายๆสถาณะการ สิ่งแรกของคนสูบบุหรี่ จะอยู่ในหลายๆเหตุการณ์ร่วมกับชีวิตประจำวันเช่น เข้าห้องน้ำ นั่งพัก แก้เหนื่อย คิดอะไรไม่ออก การสูบบุหรี่หลายคนเริ่มต้นมาจากการทดลอง ค่านิยมของบุหรี่ หลายๆท่านอาจจะเชื่อกันมาในทางที่ดี แต่สูบไปนานๆ อยากรักษาสุขภาพ มีความคิดที่อยากจะเลิก ได้ทดลองหลายๆวิธีแต่ก็ไม่สามารถเลิกได้ รู้ข้อเสียแต่ก็ยังอยากจะสูบเนื่องจากอาการติด บุหรี่ เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป แรงบันดารใจของคนเลิกสูบบุหรี่ค่อนข้างจะสำคัญมากๆ วันนี้แอดพามาดูประโยชน์ต่างๆหลังจากที่เลิก บุหรี่ มาให้ดูแล้วกันนะครับ หากท่านใดยังลังเลเรื่องนี้อยู่ ลองอ่านดูให้จบนะครับ อาจจะอยากเลิกขึ้นมาทันทีก็ได้

ประโยชน์ที่คุณจะได้รับในทันทีเมื่อหยุดสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ทำให้หัวใจคุณเต้นเร็วขึ้น เชื่อหรือไม่ว่าหลังจากคุณสูบบุหรี่มวนสุดท้ายไปได้ 20 นาที อัตราการเต้นของหัวใจคุณจะลดลงมาจนเกือบอยู่ในระดับปกติ และภายในเวลาสองชั่วโมงทั้งความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของคุณจะลดลงจนอยู่ในระดับปกติ อาการถอนนิโคตินจะเริ่มแสดงออกประมาณสองชั่วโมงหลังจากคุณสูบบุหรี่มวนสุดท้าย

ทุกครั้งที่คุณสูบบุหรี่ คุณจะได้สูด “ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นพิษต่อร่างกายเข้าไปในระดับสูง แต่ข่าวดีก็คือมันเป็นสารพิษชนิดแรกที่ออกจากร่างกายของคุณหลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่

ขณะที่คุณสูบบุหรี่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอดและยับยั้งหรือขัดขวางไม่ให้ก๊าซออกซิเจนจับกับเม็ดเลือดแดง การขาดก๊าซออกซิเจนส่งผลให้เกิดโรคหัวใจที่ร้ายแรงและปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ไปได้ 12 ชั่วโมง ระดับก๊าซออกซิเจนในเลือดของคุณจะกลับมาอยู่ในระดับปกติและระดับ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในร่างกายของคุณจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

หลังจากคุณหยุดสูบบุหรี่ได้หนึ่งวัน ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD) จะลดลงเช่นเดียวกับความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจวาย หากคุณเลิกสูบบุหรี่ได้สองวัน การรับรสและการรับกลิ่นของคุณจะเริ่มดีขึ้น ปลายประสาทของคุณเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ในระยะนี้คุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิดเพราะความอยากสูบบุหรี่

หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ได้ 3 วัน สารนิโคตินจะไม่เหลือในร่างกาย ทำให้คุณมีอาการถอนนิโคติน เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ กระวนกระวายและหงุดหงิด ถึงแม้ระยะนี้เป็นระยะที่ยากที่สุดในการหยุดสูบบุหรี่ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายในเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์และให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าความพยายาม

นับตั้งแต่วันที่ 10 หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ อาการเหล่านี้จะลดลงหรือหมดไป รวมถึงการไหลเวียนของเลือดบริเวณเหงือกและฟันของคุณจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
 

หลังจากหลายสัปดาห์และหลายเดือนผ่านไป

เมื่อถึงจุดนี้ อาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับและไม่มีสมาธิจากการอาการถอนการหยุดสูบบุหรี่ควรหมดไป แต่ถ้าอาการเหล่านี้ยังมีอยู่ คุณควรปรึกษาแพทย์

หลังจากคุณหยุดสูบบุหรี่ไปได้ 3 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน การไหลเวียนของเลือดในร่างกายคุณจะดีขึ้น คุณอาจสังเกตว่าคุณมีพลังงานมากขึ้นขณะทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น การเดิน การออกกำลังกาย

นอกจากนี้ หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ไปได้ 30 วัน ซีเลียซึ่งเป็นขนเส้นเล็กๆ ที่อยู่บนผิวของเซลล์เยื่อบุหลอดลมภายในปอด ซึ่งมีหน้าที่ขจัดเมือกและสิ่งสกปรกต่างๆ ออกไปจากปอดของคุณ จะเริ่มซ่อมแซมตัวเองจากความเสียหายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เมื่อเส้นขนเหล่านี้กลับมาทำหน้าที่เป็นปกติเหมือนเดิม ปอดของคุณจะเริ่มทำงานดีขึ้น อาการหายใจลำบากหรืออาการ “ไอของคนที่สูบบุหรี่” ควรเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามความช้าเร็วของการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คุณเคยสูบบุหรี่
 

เมื่อถึงหนึ่งปี

การที่คุณหยุดสูบบุหรี่ได้ถึงหนึ่งปีถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ในตอนนี้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจของคุณได้ลดลงครึ่งหนึ่ง
 

หลังจากหนึ่งปีผ่านไป

ภายใน 5 ปีความเสี่ยงในการมีภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตกจะลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญจนเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่

หลังจากคุณหยุดสูบบุหรี่ได้สิบปี ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด เช่นมะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งปอดลดลงครึ่งหนึ่ง และเมื่อถึง 15 ปี ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเทียบเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่สูงถึง 30-50% แต่หลังจากเลิกสูบบุหรี่ได้ 10 ปีแล้วความเสี่ยงดังกล่าวจะลดลงครึ่งหนึ่ง

สำหรับหลายๆท่านที่ยังไม่มีแรงบรรดารใจในการเลิก อ่านแล้วลองพิจารณาดูนะ อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ยาก หากเราจะทิ้งมันไปซะ เพื่อตัวเอง

ข้อมูล : bumrungrad.com